การปรับโครงสร้างหนี้คืออะไร…? ในช่วงนี้ผู้ที่เป็นลูกหนี้คงได้ยินคำนี้บ่อย ๆ จนคุ้นหู จากการเกิดวิกฤตโควิด-19ในปัจจุบัน แต่หลายคนอาจจะยังสงสัยว่า การปรับโครงสร้างหนี้คืออะไร หนี้ของตัวเองจำเป็นต้องเข้าร่วมการปรับโครงสร้างหนี้หรือไม่ ลองศึกษาไปพร้อม ๆ กันจากบทความนี้
การปรับโครงสร้างหนี้คือ การเจรจาผ่อนผันการชำระหนี้ ระหว่างลูกหนี้และเจ้าหนี้ โดยขยายระยะเวลาและลดจำนวนการผ่อน หรือลดดอกเบี้ยเป็นการชั่วคราว เช่น จากเดิมผ่อนงวดล่ะ 10,000 บาทต่อเดือน ขอปรับโครงสร้างหนี้เป็น งวดล่ะ 8,000 บาทต่อเดือน เป็นเวลา 1 ปี เป็นต้น
สิ่งที่ควรพิจารณา ก่อนปรับโครงสร้างหนี้?
สิ่งที่ควรพิจารณาก่อนที่การสัญญาปรับโครงสร้างหนี้กับสถาบันการเงิน คือ ต้องศึกษาเงื่อนไขให้ดี เพื่อไม่ให้เกิดการจ่ายดอกเบี้ยที่มากกว่าเดิม ที่สำคัญคือ ถึงแม้จะปรับเปลี่ยนโครงสร้างแล้วเราต้องผ่อนชำระไหว นอกจากนั้นสิ่งที่ต้องพิจารณาเพิ่มเติมคือ เงื่อนไขลูกหนี้ร่วม หรือผู้ค้ำประกัน, ต้องได้รับชำระหนี้มากกว่า การบังคับคดีกับทรัพย์สิน, จำนวนหนี้ของแต่ละเจ้าหนี้, ต้นทุนและค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับจำนวนหนี้ และ เจ้าหนี้มีหลักประกัน หรือเจ้าหนี้ไม่มีหลักประกัน
หนี้แบบไหน ที่ไม่ควรปรับโครงสร้างหนี้?
ก่อนปรับโครงสร้างหนี้ควรจะต้องดูด้วยว่า หนี้แบบไหนที่ไม่ควรปรับโครงสร้างหนี้ โดยหนี้ที่ไม่ควรปรับนั้น ได้แก่ หนี้ที่เกิดจากการทุจริต, หนี้ของลูกหนี้ที่หมดความสามารถในการชำระหนี้, หนี้ที่เล็งเห็นอยู่แล้วว่าลูกหนี้ไม่มีความสามารถชำระหนี้หรือกิจการไม่มีโอกาสฟื้นฟูได้ และหนี้ที่ลูกหนี้ตาย แล้วทายาทไม่มีความประสงค์ที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องกับการชำระหนี้
การปรับโครงสร้างหนี้มีกี่แบบ?
การปรับโครงสร้างหนี้มีทั้งหมด 3 แบบ
- การปรับโครงสร้างหนี้แบบป้องกัน ใช้กับลูกหนี้ที่ประวัติผ่อนชำระดีมาตลอด แต่เนื่องด้วยสถานการณ์ปัจจุบันทำให้รายได้หายไปชั่วคราว แต่มีศักยภาพในการชำระหนี้ตามปกติในอนาคต การปรับแบบนี้จะยังถือว่า “เป็นหนี้ปกติเหมือนเดิม” ในส่วนของการปรับโครงสร้างแบบนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีประกาศออกมารองรับ เป็นกลุ่มที่น่ากังวล ควรรีบไปคุยกับเจ้าหนี้ให้เร็ว
- กลุ่มที่เป็นหนี้เสียอยู่แล้ว คือ ค้างชำระหนี้เดือน 3 งวด ถือเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือ NPL กลุ่มนี้ถือเป็น การปรับโครงสร้างหนี้ที่มีปัญหา จึงเป็นกลุ่มที่ควรรีบเข้าโครงการ คลินิกแก้หนี้ สามารถหาข้อมูลจากคลินิกแก้หนี้ หรือโทรไปที่ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) โทร 1213 ของธนาคารแห่งประเทศไทย และไม่ควรหนีหนี้ เพราะจะทำให้ปัญหาไม่ถูกแก้ไข
- กลุ่มที่เจอเหตุการณ์มาหนัก เรียกได้ว่า income shock แต่เนื่องด้วยเหตุการณ์ปัจจุบันรายได้ทั้งหมดหายไป คนกลุ่มนี้มักจะมีภาระทั้งหนี้บ้าน รถยนต์ สินเชื่อส่วนบุคคลต้องผ่อน มีความจำเป็นต้องขอพักชำระหนี้ คือ หยุดการชำระทั้งเงินต้น และดอกเบี้ยไว้ก่อน หากมีกำลังก็อาจจะจ่ายได้แค่ดอกเบี้ย ดังนั้นบัญชีจะอยู่ระหว่างการพักชำระหนี้ และจะกลับมาได้เป็นปกติหลังจากวิกฤตผ่านไป
ไม่ว่าจะเข้าข่ายใดก็ตามที่ใน 3 แบบที่กล่าวมาข้างต้น ควรรีบติดต่อกับเจ้าหนี้ เพื่อทำการปรับโครงสร้างหนี้ของตัวเอง รวมถึงไม่ลืมที่จะพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ ก่อนทำการปรับโครงสร้างหนี้ด้วย
ขอบคุณบทความดี ๆ จาก